การใช้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ถือเป็นการกู้เงินที่มีผลผูกพันต่อผู้กู้ในระยะยาวอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าเมื่อตอนเลือกใช้บริการสินเชื่อผู้ขอสินเชื่อจะได้พิจารณาเปรียบ เทียบตัวเลือกอย่างถี่ถ้วนตามองค์ประกอบที่เราได้นำเสนอเป็นหลักการไปแล้วใน เรื่องการเลือกสินเชื่อซึ่งได้แก่ วงเงินกู้ ระยะเวลา อัตราดอกเบี้ย จำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละงวด และเงื่อนไขอื่นๆ ตามแต่ละสถาบันการเงินกำหนด จนกระทั่งในที่สุดผู้ขอสินเชื่อจะสามารถเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับตนเองและ ให้ประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินดังกล่าวในที่สุด แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ยาวนานย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นในชีวิตของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งอาจทำให้สินเชื่อที่เคยเหมาะสมนั้นกลับกลายเป็นไม่เหมาะสมได้ สถาบันการเงินจึงเปิดโอกาสให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถรีไฟแนนซ์ได้ เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสินเชื่อให้เหมาะสมกับผู้ขอสินเชื่อมากยิ่งขึ้น ในครั้งนี้ DDproperty อยากชวนผู้ขอสินเชื่อทุกท่านมาทำความเข้าใจเรื่องการรีไฟแนนซ์กัน
รู้จักรีไฟแนนซ์บ้าน
การรีไฟแนนซ์บ้านนั้นจะคล้ายๆ กับการที่ลูกหนี้ขอเปลี่ยนจากเจ้าหนี้คนเดิมมาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ เมื่อเราต้องการเปลี่ยนเจ้าหนี้วิธีการก็คือเราก็จะไปขอกู้จากเจ้าหนี้ใหม่ ของเราแล้วเอาเงินไปใช้หนี้เจ้าหนี้เดิมของเรา ทำให้หนี้ของเรากับเจ้าหนี้เดิมนั้นสิ้นสุดลง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของหนี้ใหม่ระหว่างเรากับเจ้าหนี้คนใหม่ ซึ่งลูกหนี้ในที่นี้ก็คือผู้ขอสินเชื่อ และเจ้าหนี้ในที่นี้ก็คือสถาบันการเงินหรือธนาคาร เมื่อเราขอรีไฟแนนซ์โดยเปลี่ยนไปใช้บริการธนาคารใหม่ ธนาคารจะให้วงเงินกู้กับเรามาใช้หนี้กับธนาคารเดิมของเรา และทำให้เรากลายเป็นลูกหนี้ของธนาคารแห่งใหม่ หรือในบ้างครั้งก็มีการรีไฟแนนซ์กันภายในธนาคารเดิมเพื่อเปลี่ยนแปลง เงื่อนไข
เหตุผลของการรีไฟแนนซ์
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้ขอสินเชื่อตัดสินใจรีไฟแนนซ์คือ ต้องการเปลี่ยนเงื่อนไขของสินเชื่อเดิมที่ทำไว้ให้เหมาะสมมากขึ้นกับ สถานการณ์ทางการเงิน เช่น ต้องการเพิ่มหรือลดวงเงินกู้ ต้องการเพิ่มลดระยะเวลากู้ ต้องการอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม ผลสุดท้ายก็คือต้องการเพิ่มหรือลดจำนวนเงินที่ต้องชำระรายงวดตามความเหมาะ สมของสภาพคล่องทางการเงินส่วนบุคคล เป็นต้น
ประโยชน์ของการรีไฟแนนซ์
โดยรวมแล้วประโยชน์ที่จะได้รับจากการรีไฟแนนซ์ที่ผู้ขอสินเชื่อจะได้รับก็ คือ การได้สินเชื่อใหม่ที่มีเงื่อนไขน่าพึงพอใจกว่าเดิม มีความเหมาะสมกับสภาพคล่องทางการเงิน ณ ช่วงเวลานั้นของผู้ขอสินเชื่อมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าหากผู้ขอสินเชื่อเกิดมีรายได้ขึ้นมาก้อนหนึ่งต้องการที่จะลดวงเงินกู้ลง ก็สามารถรีไฟแนนซ์เพื่อปรับลดวงเงินลงได้ หรือกลับกันถ้าหากต้องการวงเงินเพิ่มเพื่อนำไปใช้ตกแต่ง ซ่อมแซม ต่อเติม ก็สามารถขอวงเงินเพิ่มจากเดิมได้ นอกจากนี้หากมีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถลดระยะเวลากู้ลงเพื่อให้ชำระต่องวด เพิ่มขึ้น หรือขยายเวลากู้ออกไปเพื่อให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายต่องวดลดลง รวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าเดิมเพื่อให้เสียดอกเบี้ยลดลง หรือจะเปลี่ยนรูปแบบการคิดดอกเบี้ยจากแบบคงที่เป็นแบบลอยตัวก็ได้ อีกทั้งอาจเป็นการรีไฟแนนซ์เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากสถาบันการเงินอื่นๆ
หลักการเลือกสินเชื่อรีไฟแนนซ์
สินเชื่อรีไฟแนนซ์นั้นจัดเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภทหนึ่งจึงมี หลักในการพิจารณาเลือกสินเชื่อไม่แตกต่างกัน โดยพิจารณาจากวงเงินกู้ เลือกสินเชื่อที่สามารถให้วงเงินตามที่เราต้องการ นอกจากจะปรับลดวงเงินกู้แล้วบางธนาคารยินยอมให้กู้เพิ่มจากยอดหนี้เดิมได้ อีกด้วย จากการสำรวจสินเชื่อรีไฟแนนซ์ของธนาคารต่างๆ พบว่าให้วงเงินกู้ตั้งแต่ร้อยละ 90-100 ในส่วนของระยะเวลานั้นใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับสินเชื่อบ้านประเภทอื่นๆ คือ ระยะเวลากู้รวมกับอายุของผู้กู้แล้วจะต้องไม่เกิน 65 ปี และระยะเวลากู้นานที่สุดคือ 30-35 ปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนั้นผู้กู้สามารถเลือกรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม กับตนเอง ทั้งแบบลอยตัว แบบคงที่ แบบผสม หรือแบบปรับคงที่ตามรอบเวลา สิ่งหนึ่งที่ผู้ขอสินเชื่อจะได้รับประโยชน์จากการรีไฟแนนซ์คือการปรับอัตรา ดอกเบี้ยให้เป็นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลา ณ ขณะนั้น ซึ่งถ้าหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงก็จะทำให้ผู้ขอสินเชื่อจ่ายดอกเบี้ยใน จำนวนที่น้อยลง ทั้งวงเงินกู้ ระยะเวลากู้ และอัตราดอกเบี้ยนี้จะเป็นตัวกำหนดจำนวนเงินที่ผู้กู้จะต้องชำระต่องวด โดยผู้ขอสินเชื่อสามารถปรับให้ได้จำนวนเงินชำระต่องวดที่เหมาะสมกับความ สามารถทางการเงินของตนเอง ณ ขณะนั้นและในอนาคตข้างหน้าได้ ทั้งนี้ผู้กู้ต้องย้อนกลับไปดูเงื่อนไขของสินเชื่อที่ใช้อยู่ด้วยว่าสามารถ ไถ่ถอนสินเชื่อได้ก่อนหมดอายุสินเชื่อตั้งแต่ปีที่เท่าไรเป็นต้นไป และถ้าหากไถ่ถอนก่อนกำหนดมักจะมีเงื่อนไขระบุให้ผู้ขอสินเชื่อต้องเสียค่า ปรับ จึงต้องพิจารณาว่าค่าปรับที่ต้องเสียจะคุ้มค่ากับการรีไฟแนนซ์ตอนนี้หรือ ไม่ หรือจะรอรีไฟแนนซ์หลังจากที่พ้นเงื่อนไขปรับไปแล้ว
คุณสมบัติของผู้ขอรีไฟแนนซ์
สถาบันการเงินหลายๆ แห่งกำหนดคุณสมบัติของผู้กู้และผู้กู้ร่วมไว้คล้ายๆ กันคือ ผู้กู้และผู้กู้ร่วมจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ คือมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 65 ปี หรือไม่เกินอายุปลดเกษียณตามที่กฎหมายกำหนดเฉพาะหน่วยงาน เป็นผู้มีสัญชาติไทย มีเงินเดือนหรือรายได้ประจำที่แน่นอน จะเป็นพนักงานประจำ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัวก็ได้ มีความสามารถที่จะชำระหนี้เงินกู้ได้ นอกจากนี้ต้องไม่มีประวัติการผิดนัดชำระหนี้มาก่อน ถ้าหากมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ให้แสดงหลักฐานการปรับปรุงหนี้ และชำระหนี้เสร็จสิ้นก่อนวันพิจารณาสินเชื่อ กรณีที่กู้ร่วม ผู้กู้ร่วมจะต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้กู้ ยกเว้นกรณีที่เป็นคู่สมรส
เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์
การเตรียมเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุมัติสินเชื่อรีไฟแนนซ์นั้นจะคล้ายๆ กับการขออนุมัติสินเชื่อครั้งแรกซึ่งเป็นสินเชื่อที่ผู้ขอสินเชื่อใช้อยู่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นการรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่ให้สินเชื่อปัจจุบัน ดังนั้นการเตรียมเอกสารจึงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน และเอกสารแสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ โดยแต่ละกลุ่มให้เตรียมเอกสารดังนี้
กลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ เอกสาร ชุดนี้คือเอกสารที่จะระบุตัวตนว่าผู้ที่กู้เป็นใคร และพำนักพักอาศัยอยู่ที่ใด เอกสารในกลุ่มนี้ที่ผู้ขอสินเชื่อต้องจัดเตรียมเพื่อยื่นประกอบการพิจารณา ขอสินเชื่อมีดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวข้าราชการ เตรียมให้พร้อมทั้งต้นฉบับและสำเนา
2. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ทั้งต้นฉบับและถ่ายสำเนาทุกหน้า
3. กรณี ที่เปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุล ให้เตรียมใบจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและนามสกุล ทั้งต้นฉบับและสำเนาทั้งหมดไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อกี่ครั้ง
4. กรณีสมรส เตรียมทะเบียนสมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
5. กรณีหย่า เตรียมทะเบียนหย่า ทั้งต้นฉบับและสำเนา
6. กรณีคู่สมรสเสียชีวิต เตรียมมรณะบัตรของคู่สมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
7. กรณีแยกกันอยู่กับคู่สมรส เตรียมใบแจ้งความแยกกันอยู่ ทั้งต้นฉบับและสำเนา
กลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน เอกสารชุดนี้จะให้ข้อมูลด้านรายได้และศักยภาพในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อ รวมไปถึงหลักทรัพย์ต่างๆ
กรณีเป็นพนักงานประจำสังกัดองค์กร ให้เตรียมเอกสารดังนี้
1. หนังสือรับรองเงินเดือน ฉบับจริง
2. เพย์เมนต์สลิปเงินเดือน หรือใบแจ้งการจ่ายค่าจ้างจากหน่วยงานย้อนหลัง 3 เดือน ฉบับจริงและสำเนา
3. สมุดบัญชีแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
4. กรณี รับเงินเดือนเป็นเงินสด ให้เตรียมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีหรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ทั้งต้นฉบับและสำเนา
กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว ให้เตรียมเอกสารดังนี้
1. สำเนาทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์ หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (หนังสือบริคณห์สนธิ) กรณีที่มีการจดทะเบียน
2. สมุดบัญชีแสดงการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน ทั้งบัญชีส่วนตัวและบัญชีกิจการ ทั้งฉบับจริงและสำเนา
3. บัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน และวงเงินเบิกเกินบัญชี
4. หลัก ฐานเกี่ยวกับกิจการ อื่นๆ เช่น ภาพถ่ายกิจการ 5 ภาพ รายชื่อผู้ถือหุ้น งบการเงิน หลักฐานรายได้และทรัพย์สินอื่นๆ หลักฐานแสดงการเสียภาษี (ภ.พ. 30) เป็นต้น
กรณีประกอบอาชีพอิสระ ให้เตรียมเอกสารดังนี้
1. บัญชีเงินฝากแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร ทนาย สถาปนิก เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 เอกสารแสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ ในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นสถาบันการเงินจะถือเอาอสังหาริมทรัพย์ที่ กู้เงินไปซื้อนั้นเป็นหลักประกัน ดังนั้นเอกสารที่แสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ก็คือ เอกสารที่ระบุถึงอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ
1. สำเนาใบเสร็จรับเงินผ่อนชำระรายงวดจากสถาบันการเงินปัจจุบัน ย้อนหลัง 6 เดือน
2. สำเนารายการบัญชีเงินกู้
3. สำเนาหนังสือสัญญากู้กับสถาบันการเงินปัจจุบัน
4. สำเนาหนังสือสัญญาจำนองหลักทรัพย์
5. กรณี ที่อสังหาริมทรัพย์คือที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้าน ทาว์นเฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ เป็นต้น ให้เตรียมสำเนาเอกสารสิทธิที่ดิน โฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) หรือหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน (น.ส. 3 ก.) ถ่ายสำเนาทุกหน้าจำนวน 2 ชุด
6. กรณีที่อสังหาริมทรัพย์คือห้องชุด ให้เตรียมหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช. 2) ถ่ายสำเนาทุกหน้า จำนวน 2 ชุด
7. แผนที่ตั้งโดยสังเขปของอสังหาริมทรัพย์
8. รูปถ่ายของอสังหาริมทรัพย์
กรณีมีผู้กู้ร่วม ให้ผู้กู้ร่วมทุกคนจัดเตรียมเอกสารในกลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ และเอกสารในกลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน ตามวิธีการและรายละเอียดที่ให้ไว้ด้านบน
หลังจากเตรียมเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอสินเชื่อควรตรวจสอบเอกสารอีกครั้งเพื่อความแน่ใจว่าได้เตรียมเอกสารไว้ อย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ทั้งเอกสารที่ต้องการต้นฉบับไปแสดง และเอกสารที่ใช้สำเนาให้ผู้ขอสินเชื่อลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ
ถึงแม้ว่าผู้ขอสินเชื่อจะเตรียมเอกสารครบถ้วนตามรายการแล้ว แต่สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกขอเอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ในกรณีผู้กู้ควรรีบดำเนินการนำเอกสารส่งต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อภายใน 3 วัน เพื่อความต่อเนื่องของกระบวนการพิจารณา
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ นักเขียนออนไลน์ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ chetapol@ddproperty.com